วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

: แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ประเภทธรรมชาติ


 ดอนหอยหลอด
           ดอนหอยหลอดเป็นสถานที่ที่มีลักษณะเด่นที่หาพบได้ยากในประเทศไทย โดยเกิดจากการทับถมของตะกอนจากแม่น้ำ และตะกอนจากทะเลบริเวณปากแม่น้ำแม่กลอง เกิดเป็นสันดอนยื่นออกไปในทะเลราว 8 กิโลเมตร ลักษณะของพื้นที่เป็นชายฝั่งราบเรียบที่พื้นเป็นทรายและตะกอน เวลาน้ำลงจะปรากฏพื้นโคลนเลนกว้างราว 4 กิโลเมตร ซึ่งมีพื้นเป็นตะกอนนุ่มและอุดมไปด้วยแร่ธาตุ ในพื้นที่จะเกิดน้ำขึ้นวันละ 2 ครั้ง เวลาน้ำขึ้นกระแสน้ำจะไหลขึ้นทางทิศเหนือ แต่เวลาน้ำลงจะไหลลงทิศใต้ อย่างไรก็ตาม บางเวลาทิศทางของกระแสน้ำอาจเปลี่ยนแปลงได้เล็กน้อยโดยกระแสลม พื้นโคลนเลนในบริเวณดอนหอยหลอดเป็นแหล่งอาศัยของหอยหลอด (Razor clam) จำนวนมาก จัดว่าเป็นพื้นที่ที่พบหอยหลอดได้มากที่สุดในบริเวณชายฝั่งอ่าวไทยทั้งหมด บริเวณดอนหอยหลอดและป่าชายเลนที่อยู่ใกล้เคียงเป็นแหล่งอาศัยของนกทะเลและนกชายฝั่งอย่างน้อย 18 ชนิด ในจำนวนนี้มีอยู่ชนิดหนึ่งที่จัดเป็นนกที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย คือ นกกระสานวล (Grey heron) และมีอีก 3 ชนิดที่จัดอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการถูกคุกคาม ได้แก่ เหยี่ยวแดง (Brahminy kite) นกนางนวลแกลบเล็ก (Little tern) และนกแอ่นกินรัง (Edible-nest swiftlet) ส่วนนกอื่นๆที่เป็นจุดเด่นของพื้นที่คือ นกยางกรอกชวา (Javanese pond heron) และนกนางนวลแกลบเคราขาว (Whiskered tern) จากการสำรวจบริเวณดอนหอยหลอด พบสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอย่างน้อย 42 ชนิด เช่น แมงกะพรุนไฟ หนอนริบบิ้น (Ribbin worm) แม่เพรียงทะเล (King ragworm) ในจำนวนนี้เป็นสัตว์จำพวกมอลลัสก์ประมาณ 10 ชนิด เช่น หอยมวนพลู (Screw turritella) หอยกระพง (Horse mussel) หอยเสียบ (Common donax) หอยปากเป็ด (Tongue shell) หอยแครง (Ark shell) หอยหลอด (Razor clam) เป็นต้น
ส่วนพืชที่ขึ้นในพื้นที่ของดอนหอยหลอดนั้น พรรณไม้ส่วนใหญ่บริเวณป่าชายเลนจะเป็นโกงกางใบเล็ก (Small-leaved mangrove) และโกงกางใบใหญ่ (Large-leaved mangrove) ตามลำต้นและรากของต้นโกงกางจะมีสาหร่ายสีแดงเกาะอยู่ บริเวณพื้นโคลนแถบชายฝั่งจะพบไซยาโนแบคทีเรีย (สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน) ได้ทั่วไป นอกจากนี้ในป่ายังพบพืชชนิดอื่นๆอีกมากมาย เช่น โพทะเล (Portia tree) แสมดำ (White mangrove) แสมขาว และพืชสกุลประสัก

กลุ่มสาระการเรียนรู้ : สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม, วิทยาศาสตร์






อุทยานแห่งชาติปางสีดา



          อุทยานแห่งชาติปางสีดาเป็นป่าที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะการศึกษา เรื่องสัตว์ป่า เพราะมีสัตว์ป่าสัตว์ป่าหายากและนกกว่า 300 ชนิด เช่น นกเงือก นกยูง จุดหนึ่งที่พบสัตว์ป่ามากก็คือ บริเวณ ห้วยคลองพลู ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับไร่ร้าง ปัจจุบันมีสภาพเป็นทุ่งหญ้าที่สัตว์ป่าหลายชนิด มักจะมากินน้ำ สัตว์ที่พบในบริเวณนี้ คือช้างป่า กระทิง เก้ง กวาง หมูป่าหรือแม้แต่เสือลายพาดกลอน นอกจากนี้ภายในอุทยาน ฯ ยังมีสถานที่ ที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง ได้แก่ น้ำตกปางสีดา น้ำตกผาตะเคียน น้ำตกแควมะค่า น้ำตกลานหินใหญ่ และน้ำตกม่านธารา

กลุ่มสาระการเรียนรู้ : สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม, วิทยาศาสตร์

อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว


         แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งของเพชรบูรณ์ ได้รับความนิยมในหมู่นักเดินทางที่ชอบการเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2515 ครอบคลุมพื้นที่ป่ารอยต่อสองจังหวัด คือ ในเขตอำเภอเมือง อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์และอำเภอคอนสาน จังหวัดชัยภูมิ มีเนื้อที่รวม 603,750 ไร่ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน อากาศจะหนาวเย็นที่สุดในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม อุณหภูมิประมาณ 2-5 องศาเซลเซียส เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของแม่น้ำหลายสาย เช่น แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำพอง แม่น้ำเลย มีสัตว์ป่าชุกชุมรวมทั้งนกชนิดต่าง ๆ ตามเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติบนเขาสูงผ่านจุดชมวิวริมหน้าผาสวยงาม อาทิ ผากลางโหล่น ผาล้อม ผากอง นอกจากนั้นยังมีถ้ำและน้ำตกที่สวยงามหลายแห่ง
      
   นอกจากนี้ทางอุทยานฯ ได้จัด เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ไว้สำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบเดินป่า ได้แก่ เส้นทางแรก เป็นระยะทาง 5 กิโลเมตร เริ่มต้นจากทางแยกใกล้ที่ทำการอุทยานฯ ระหว่างทางจะได้พบเห็นนกชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนจะพบรอยช้างจำนวนมาก เส้นทางที่สอง เริ่มจากทางเดินตรงข้ามที่ทำการอุทยานฯ ลัดเลาะผ่านป่าเต็งรัง บ่อดินโป่งซึ่งมีช้าง กวาง และสัตว์อื่น ๆ ทางสายนี้ไปสิ้นสุดที่หน่วยพิทักษ์อุทยานซำบอน ระยะทาง 8 กิโลเมตร

กลุ่มสาระการเรียนรู้
: สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม
อุทยานแห่งชาติภูเรือ

            อุทยานแห่งชาติภูเรือ เป็นอุทยานแห่งชาติตั้งอยู่ที่ ตำบลหนองบัว อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย และอำเภอท่าลี่ อาณาเขตทางทิศเหนือติดกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นภูเขาสูงบนยอดเขาเป็นที่ราบกว้างมีต้นสนจำนวนมาก ขึ้นสลับซับซ้อน มีลักษณะแปลกก็คือ มีส่วนหนึ่งเป็นผาชะโงกยื่นออกมาเหมือนหัวเรือสำเภาขนาดใหญ่ ลักษณะภูมิประเทศของอุทยานแห่งชาติภูเรือเมื่อมองโดยรอบ ในที่สูง จะเห็นทิวเขาสลับซับซ้อนกันสวยงาม ประกอบด้วยเขาหินประเภทต่าง ทรายและหินแกรนิสสสับกัน สัตว์ป่าที่พบเห็นได้แก่ หมี เก้ง หมาใน ไก่ฟ้าพญาลอ เต่าปูลู อุทยานภูเรืออยู่บนยอดเขาสูงทำให้มี อากาศหนาวเย็นตลอดปีและเป็นอุทยานที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุดของประเทศโดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวจะหนาวเย็นมาก จนกระทั่งน้ำค้างบนยอดหญ้าจะแข็งตัว ภาษาพื้นเมือง เรียกว่า "แม่คะนิ้ง" มีเนื้อที่ประมาณ 75,525 ไร่
         เนื่องจากที่อุทยานแห่งชาติภูเรือ เป็นภูเขาสูงและมีทึ่ราบกว้าง จึงมีสภาพป่าที่หลากหลายชนิดปะปนกัน ซึ่งประกอบไปด้วย ป่าเต็งรัง ป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าสนเขา สลับกับทุ่งหญ้า ส่วนไม้พื้นล่างที่พบโดยทั่วไป ได้แก่ มอส เฟิน กุหลาบป่า และกล้วยไม้หลายพันธุ์ เช่น เอื้องคำ เอื้องเงิน ไอยเรศ ม้าวิ่ง เป็นต้น

กลุ่มสาระการเรียนรู้ : สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม

ที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD


อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

         อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอแก่งกระจาน อำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอท่ายาง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำปราณบุรี และมีลักษณะเด่นทางธรรมชาติที่สำคัญหลายแห่ง เช่น ทะเลสาป น้ำตก ถ้ำ หน้าผาที่สวยงาม ทั้งเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีเนื้อที่ประมาณ 2,915 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,821,875 ไร่ ได้จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2524
         
ลักษณะภูมิประเทศมีทั้งส่วนที่เป็นพื้นดินและส่วนที่เป็นอ่างเก็บน้ำ มีเนื้อที่ประมาณ 45 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ป่าเหนืออ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน ประกอบด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน ติดต่อกันเป็นอาณาเขตกว้าง ยอดสูงสุดประมาณ 1,200 เมตร โดยเฉลี่ยสูงประมาณ 500 เมตร จากระดับน้ำทะเล ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาหินแกรนิต บางแห่งเป็นเขาหินปูน ในหลายแห่งอุดมไปด้วยแร่ฟลูออไรน์ ปกคลุมด้วยป่าดิบชื้นเป็นส่วนใหญ่ เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำปราณบุรี พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าดงดิบชื้น คือ มีประมาณ 80% ของพื้นที่ และอีก 20% เป็น ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ทุ่งหญ้า ทั้งยังมีลักษณะเด่นในบางพื้นที่เป็นป่าเต็งรังผสมกับไม้สนซึ่งเป็นสนสองใบ ตามธรรมชาติ มีพรรณไม้มีค่าทางเศรษฐกิจหลายอย่าง เช่น ตะเคียนทอง ประดู่ มะค่า กฤษณา ฯลฯ มีสภาพธรรมชาติที่สมบูรณ์เป็นอย่างยิ่งสัตว์ป่ามีอยู่อย่างหนาแน่น ชุกชุมด้วยสัตว์ใหญ่ เช่น ช้างป่า โดยเฉพาะช้างที่เคยจับได้เป็นช้างเผือก ซึ่งราษฎรชาวจังหวัดเพชรบุรีได้น้อมเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปแล้วถึง 4 เชือก นอกจากนั้นสัตว์อื่นๆ ก็ยังมีอยู่หลายชนิด เช่น กระทิง เก้ง เสือ กวาง ค่าง ลิง ชะนี หมี และอื่น ๆ อีกมาก รวมทั้งสัตว์เลื้อยคลาน นกชนิดต่าง ๆ และจระเข้น้ำจืดหรือจระเข้ตีนเป็ดในหนองน้ำลำห้วยต้นแม่น้ำเพชรบุรี
กลุ่มสาระการเรียนรู้ : สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม

ที่มา :
http://www.thaiforestbooking.com/np_home.asp?lg=1&npid=113

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น